เมื่อเร็วๆ นี้แอดมินได้มีโอกาสเดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัย ในการประชุมวิชาการที่จัดขึ้น ณ University of Oxford ประเทศอังกฤษ และถ้าใครที่ติดตามอยู่คงเคยอ่านเกี่ยวกับ “วิธีการสมัครเพื่อเข้าร่วมการประชุมวิชาการ” มาแล้ว
สำหรับโพสต์นี้ ขอนำประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาได้จากการประชุมครั้งล่าสุดมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าประชุม
…หลังจากได้รับการตอบรับ ผู้เข้าร่วมประชุมต้องเขียน paper ซึ่งมีความยาวประมาณ 3,000 คำส่งให้ทางผู้จัดการประชุม (ทั้งนี้แล้วแต่เงื่อนไขของการประชุม)
…หากที่ประชุมกำหนด deadline ให้ส่ง paper ล่วงหน้า ผู้เข้าร่วมประชุมต้องถือกำหนดเวลานั้นเป็นสำคัญ เพราะการตรงต่อเวลานับเป็นมาตรฐานสำคัญในการทำงานระดับนานาชาติ
…ผู้เข้าร่วมประชุมจำเป็นต้องสื่อสารกับผู้จัดประชุม เกี่ยวกับความต้องการด้านที่พัก ความต้องการพิเศษเกี่ยวกับอาหาร เอกสารประกอบการสมัครวีซ่า การจ่ายค่าลงทะเบียน และอื่นๆ ให้เรียบร้อยก่อนการเดินทาง
Paperที่ดีมีลักษณะอย่างไร
…Paper ที่ผู้จัดการประชุมมองหา เพื่อรวบรวมมาจัดใน conference program คือ paper ที่สอดคล้องกับหัวข้อหรือ theme ของการประชุม
…Paper ที่ดีนั้น ควรมีข้อถกเถียงทางวิชาการ (arguments) ที่คมชัด น่าสนใจ มี focus ที่ชัดเจน จนทำให้เกิดความโดดเด่น(uniqueness) ไม่ใช่ paper ที่บรรยายและพรรณนาไปเรื่อยๆเปื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย
…การไปนำเสนอผลงานทางวิชาการไม่จำเป็นต้องรอจนทำงานวิจัยเสร็จ ผู้วิจัยสามารถไปนำเสนอ ตั้งแต่ช่วงต้น (อาทิ ช่วงร่าง Proposal) ช่วงกลาง หรือช่วงปลาย ได้ตลอดระยะเวลาวิจัย
ว่าด้วยเรื่องของการเตรียม Presentation
…ควรเตรียมตัวและซักซ้อมการ present ก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีประสบการณ์ในการ present มามากเพียงใดก็ตาม เพราะเวลา 20 นาทีจะผ่านไปไวอย่างเหลือเชื่อ
…Power Point ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะใช้ประกอบการพูด ไม่ควรมีแต่ Text Text Text…และ Text
และ การ present ไม่ควรเป็นการอ่านไปตาม Text เพราะจะทำให้ไม่น่าสนใจ ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง (ในการประชุมที่แอดมินไปมา มีคำแนะนำว่า หากจะใช้ ควรมี Text น้อยที่สุด หรือใช้เพียงรูปภาพประกอบเท่านั้น)
โมเมนต์ที่ควรค่าแก่การจดจำ
…ณ ช่วงเวลาที่เวทีเป็นของผู้นำเสนอ การได้พูดในประเด็นที่เป็น passion และ expertise
แล้วมีคนอื่นนั่งฟัง เป็นช่วงเวลาที่มีค่าและน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง
…คำถามจากผู้ฟังเป็นการแสดงถึงความสนใจต่อหัวข้อที่นำเสนอ การซักถามทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดที่หลากหลาย เป็นสิ่งดีงามและจำเป็นอย่างมากสำหรับงานประชุมวิชาการ
สิ่งที่ได้จากการรับฟัง
…การได้รับฟังผู้อื่น ทำให้ได้รับมุมมองที่กว้างขวาง และทำให้สามารถมองสะท้อนกลับมาที่งานของตัวเอง ส่งผลดีและสร้างความคมชัดต่องานของตนเพิ่มได้อีก
…นอกจากความรู้ มุมมองใหม่ๆที่ได้รับ มิตรภาพดีๆก็เกิดขึ้นได้เสมอ
…และบางทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ connections ดีๆ ก็เกิดขึ้นได้นอกห้องประชุม เช่น ตอนพักดื่มชา กาแฟ
เรียนรู้ว่าทุกคนเท่ากัน
…ในการประชุมวิชาการหนึ่งๆ อาจมีตั้งแต่ นศ.ปริญญาตรี โท หรือเอก ไปจนถึง professor ที่มีผลงานมาแล้วมากมาย สิ่งที่แอดมินประทับใจคือ ไม่มีใครแสดงท่าทีเหนือกว่าใคร ทุกคนต่างมีมิตรภาพ ให้เกียรติ รับฟัง เปิดใจยอมรับกันและกัน โดยไม่มีข้อจำกัดและการแบ่งแยก
…(ในงานประชุมที่แอดมินไป เปิดกว้างมากในแง่ผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา
และมีนโยบายงดเว้นการใช้ title ใดๆ นำหน้าชื่อ)
ในโลกแห่งวิชาการ
…ข้อดีของโลกแห่งวิชาการคือ ผู้วิจัยมีอิสระในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และไม่ว่าผู้วิจัยจะสนใจทำเรื่องอะไร มักมีคำอธิบายในทางวิชาการเสมอ
…แอดมินเชื่อว่า โลกวิชาการค่อนข้างเป็นโลกที่เปิดกว้าง ทุกคนต่างมีพื้นที่ยืนเป็นของตนเอง ไม่มีใครต้องแข่งขันกับใคร ต้นไม้แห่งการเรียนรู้สามารถเติบโตได้ในรูปแบบของตัวเอง และเมื่อต้นไม้หลายต้นเติบโตร่วมกัน จะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลกับโลกใบนี้
หลังการประชุมสิ้นสุด
…หน้าที่ของผู้เข้าประชุม คงไม่หยุดอยู่เพียงแค่เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง เพราะนอกจากจะต้องปรับปรุงบทความที่ส่งไปก่อนหน้า ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดอีกครั้งก่อนส่งตีพิมพ์ บทบาทและหน้าที่ของการเป็นนักวิชาการและนักวิจัย ยังคงต้องดำเนินต่อไป…
——————————