สวัสดีค่ะ เช้าวันจันทร์นี้ เรามีข่าวดีมาแชร์ค่ะ แอดมินขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง กับ สมาชิกเพจ “ก็แค่ปริญญาเอก” คุณ กุลชัย กุลตวนิช หรือ บิ๊ก ว่าที่ดุษฎีบันทิตจาก ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่านมาหยกๆ
วันนี้ ดร.บิ๊กยินดีมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนปริญญาเอก ที่นี่ค่ะ
ความรู้สึกตอนสอบป้องกันผ่านเป็นอย่างไร?
มันเหมือนเวลาหยุดหมุนครับ หัวใจพองโต น้ำตาเริ่มไหลพูดอะไรก็ไม่ออก ช่วงเวลาอันเหนื่อยยากมันยุติลงแล้ว เสียงปรบมือดังทั่วทุกมุมห้อง ได้ยินเสียงอาจารย์แสดงความยินดี ยิ่งกว่าคำว่าฝันไปครับ
ขอย้อนกลับไปถามว่า ทำไมถึงตัดสินใจมาเรียนปริญญาเอก?
เดิมทีผมเคยเป็นผู้ช่วยวิทยากรหลักสูตรการสอนคอมพิวเตอร์อยู่ในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งครับ หลังจากที่ผมจบปริญญาโทสาขาวิชาระบบสารสนเทศทางธุรกิจมา ก็เปลี่ยนอาชีพมาเป็นหัวหน้างานไอทีในบริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานอยู่ได้ 1 ปีกว่า ก็พบว่าชีวิตไม่ได้มีความสุขกับการทำงานในออฟฟิศเลย จึงมานั่งนึกดูว่าความสุขที่สุดของผมก็คือการได้สอนและให้ความรู้ผู้อื่นเหมือนช่วงที่ยังเป็นผู้ช่วยวิทยากร
ผมจึงลาออกจากงานมาเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสืออยู่ตามมหาวิทยาลัย ทำอาชีพนี้อยู่ได้ประมาณ 2 ปีกว่า ก็พบว่านโยบายใหม่ของมหาวิทยาลัยต้องการอาจารย์ที่มีคุณวุฒิในระดับด็อกเตอร์ขึ้นไปจึงจะสามารถรับเข้าบรรจุอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้ จึงมีความคิดที่จะเรียนต่อปริญญาเอก
ก็เลยมานั่งมองดูว่าด้วยพื้นความรู้ของผมจะสามารถต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง แต่เมื่อมานั่งคิดใคร่ครวญดูแล้วผมคิดว่าสิ่งที่ผมยังขาดคือผมเป็นอาจารย์แต่ไม่มีวุฒิเกี่ยวกับการศึกษาเลยสักใบ
ดังนั้นการเรียนในครั้งนี้ผมต้องได้ความรู้กลับมาพัฒนางานสอนของตัวเองให้ดีขึ้นได้ จึงเลือกพิจารณาสาขาวิชาในคณะครุศาสตร์เป็นอันดับแรก และเมื่อเปิดดูหลักสูตรแล้วก็คิดว่าตนเองน่าจะพอเข้าเรียนในสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาได้ ก็เลยตัดสินใจลองมาสอบเข้าเรียนที่ภาควิชาครับ
ระหว่างเรียนเจอความท้าทายอะไรบ้าง ผ่านมาได้อย่างไร?
ผมใช้เวลาในการเรียนทั้งหมดเป็นระยะเวลา 4 ปีการศึกษา จะขอเล่าแบ่งระยะเป็นช่วงปีนะครับ
ช่วงปีที่ 1 “ระยะปรับตัว”
เป็นช่วงเวลาแรกเข้า ในรุ่นของผมมีสมาชิกที่ต้องเรียนด้วยกันทั้งหมด 5 คน โดย 4 คนเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ และจบสายการศึกษามาโดยตรง ดังนั้นจึงมีผมแค่คนเดียวที่ไม่ได้จบสายนี้มาและไม่ได้เป็นศิษย์เก่าของที่นี่ แทบเรียกได้ว่าเป็นคนแปลกหน้ามากๆ และบอกตามตรงว่ารู้สึกกดดันและเครียดมาก เพราะเท่ากับว่าตนเองดูด้อยที่สุดในชั้นเรียน
เนื่องจากว่าผมจบมาไม่ตรงสายตามเงื่อนไขของหลักสูตรต้องทำการเรียนปรับพื้นความรู้ในภาคการศึกษาแรกเสียก่อนจึงจะไปเรียนร่วมคลาสกับเพื่อนๆได้ ผมต้องมาเรียนปรับพื้นความรู้โดยการเรียนรวมกับน้องปริญญาโท
ผมมีความตั้งใจว่าการเรียนในครั้งนี้ไม่ว่ายังไงผมก็จะทุ่มเทให้ถึงที่สุด เมื่อได้รับมอบหมายงานชิ้นแรกๆ ผมใช้เวลาทั้งวันเก็บตัวอยู่ที่หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยเพื่อนั่งทำงาน แต่เมื่อนำไปส่งปรากฎว่าผมได้คะแนนผลงานในแต่ละครั้งแค่ 2-3 คะแนน จาก 10 เต็ม
ผมเกิดความท้อแท้มาก แต่เนื่องจากว่าทุกครั้งที่ให้คะแนนอาจารย์จะบอกเหตุผลเสมอว่าทำไมผมได้คะแนนแค่นี้ ผมจึงค่อยๆปรับปรุงวิธีการทำงานของตนเองตามคำแนะนำจากอาจารย์ และตัดสินใจไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการของผม (ซึ่งในเวลาต่อมาท่านกลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม)
ผมได้รับคำแนะนำมากมายท่านสอนทั้งวิธีคิดและวิธีเขียนโดยไม่รังเกียจและไม่เคยมองผมว่าเป็นคนด้อยค่า นี่เป็นหนึ่งในเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอันนึงเลยก็ว่าได้
“การเข้าหาและเรียนรู้จากอาจารย์ได้ไวย่อมได้เปรียบเสมอ” นี่เป็นข้อคิดที่ผมได้รับมา
อาจารย์ที่ปรึกษาของผมท่านได้ย้ำเตือนว่าคนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่รู้จักลงมือปฏิบัติอย่างแข็งขัน ผมเลยมีความตั้งใจว่าถ้าเพื่อนใช้ความพยายามเท่าไหร่ เราความรู้น้อยกว่าก็ต้องใช้ความพยายามเป็น 2 เท่า
ผมเริ่มจากยืมหนังสือสายการศึกษากลับบ้านวันละ 2-3 เล่มเพื่อนำไปอ่านทำความเข้าใจ และพิมพ์เป็นบันทึกเก็บไว้ เมื่อมีงานประชุมทางวิชาการก็หมั่นแวะไปฟัง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า 2-3 เดือนให้หลังเริ่มเข้าใจแนวทางบ้างแล้ว และน้องๆป.โทที่เรียนด้วยก็เริ่มยอมรับในตัวผม ทำให้สถานการณ์และทัศนคติที่มีต่อตัวเองดีขึ้นมาก
แต่แล้วก็ได้รับผลเสียจนได้ ผมต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะตับอักเสบเนื่องจากพักผ่อนน้อยเกินไป
จึงได้บทเรียนชีวิตอีกข้อว่า “นอกจากการทุ่มเรียนแล้วสุขภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน”
ช่วงปีที่ 2 “ระยะเก็บเกี่ยวฝึกฝน”
ในช่วงปีที่ 2 นี้ ผมและเพื่อนต้องสอบวัดคุณสมบัติ เวลาทั้งหมดในภาคการศึกษาแรกจึงหมดไปกับการเตรียมสอบและพัฒนาโครงร่างวิทยานิพนธ์
เมื่อเข้าสู่ภาคการศึกษาที่ 2 ผมมีความคิดว่าต่อจากนี้ไปจะลงทะเบียนเรียนให้ได้มากที่สุดตามที่จะลงได้ และช่วยงานอาจารย์ในการทำวิจัย เพื่อเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ที่ขาดหายไป
นอกจากนี้ผมรับอาสาดูแลน้องๆที่เพิ่งเข้ามาเรียนใหม่ด้วย เนื่องจากผมคิดว่าการได้พูดคุยและเปลี่ยนหรือให้ความช่วยเหลือใครก็ตามไม่ใช่ภาระแต่เราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ดังนั้นช่วงปีนี้ก็หมดไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครับ
คติที่ได้จากช่วงนี้คือ “ยิ่งคุณรู้จักกับคนมากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเขามากเท่านั้น และความรู้ของคุณก็จะเติบโตขึ้นเช่นกัน”
ช่วงปีที่ 3 “วิจัย วิจัย วิจัย”
ในช่วงปีที่ 3 นี้เป็นช่วงที่ผมสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์และดำเนินงานวิจัย ระหว่างการดำเนินงานวิจัยผมก็ยังคงลงทะเบียนเรียนและทำงานช่วยอาจารย์ควบคู่กันไปเหมือนเดิม
ปัญหาที่พบคือการจัดการทั้ง 3 สิ่งนี้ให้งานเสร็จสิ้นตรงตามเวลาเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงช่วงที่ผมเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิเกิดเหตุชุมนุมขึ้น ทำให้การเดินทางหรือการนัดหมายบางครั้งไม่ประสบความสำเร็จ (บอกตามตรงเลยว่าเริ่มท้อ) กว่าจะผ่านมาพัฒนาเครื่องมือไปทดลองได้แทบกระอักเลือด แต่ก็พอถูไถผ่านมาได้ครับ
สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์และนำเสนอผลงาน ผมใช้วิธีแบ่งงานวิจัยออกเป็นช่วงตามลักษณะของผลที่ได้ เมื่อได้ผลและข้อค้นพบจากระยะนึงก็จะมาเรียบเรียงเป็นบทความรอส่งตีพิมพ์ครับ
ช่วงเวลาในปีนี้รอดมาได้ครับ ตารางเวลาของผมใน 1 วันจะถูกแบ่งเวลาออกมาเป็นชั่วโมง เช่น วิทยานิพนธ์ 2 ชม. งานอาจารย์ 2 ชม. การบ้าน 2 ชม. และระหว่างวันอาจมีการช่วยเหลือพูดคุยกับพี่ๆน้องๆเป็นระยะ
ช่วงปีที่ 4 “เวลาแห่งความทรงจำ”
ในช่วงสุดท้ายของการเรียนนี้ ภาคการศึกษาแรกของผมหมดเวลาไปกับการศึกษาเงื่อนไขการตีพิมพ์ นำเสนอผลงานวิจัย ตีพิมพ์บทความ และช่วยงานอาจารย์ครับ
ผมมีโอกาสได้ไปนำเสนองานอยู่ 2 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เรียกได้ว่านี่คือช่วงเวลาโบนัสของผมเลยก็ว่าได้
เมื่อเข้าสู่ภาคการศึกษาที่ 2 เป็นช่วงสุดท้ายของการเรียนแล้วผมใช้เวลากับการสรุปและอภิปรายผลอยู่หลายเดือน (คำเตือนเลยนะครับว่าต้องเหลือเวลามากๆ ในการเขียนอภิปรายส่วนท้าย เนื่องจากผมเห็นหลายท่านเว้นเวลาไว้ไม่พอทำไม่ทัน น้ำตาจะตกเอาได้ เพราะส่วนท้ายนี้เรียกได้ว่าเป็นตัววัดความสามารถของผู้วิจัยเลยก็ได้ เราจะรู้ได้ทันทีว่าคนผู้นี้เก่งหรือไม่จากการดูวิธีสรุปและอภิปรายด้วยส่วนหนึ่ง)
ช่วงนี้ผมเครียดมาก พี่ๆ น้องๆ อาจารย์ต่างพากันเป็นห่วง เนื่องจากผมอาจจะเป็นคนที่แปลกอยู่สักหน่อยนึงคือทำงานช้ามาก เพราะผมเขียนอธิบายลงไปไม่ได้หากผมยังไม่เข้าใจ
ดังนั้นในส่วนนี้ผมเสียเวลาไปหลายเดือน เนื่องจากวนอยู่ในวังวน เขียน ทบทวน ลบทิ้ง เขียนใหม่ อยู่หลายรอบ โยกข้อมูลไปมาจนงงไปหมด จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องบอกว่า “งานวิจัยที่ดีไม่ใช่ว่าต้องมีคุณภาพอย่างเดียวนะ มันต้องเสร็จทันเวลาด้วย ส่วนคุณภาพนั้นก็อาจมีในระดับหนึ่ง ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์พร้อม ถ้าเราไม่ตรงต่อเวลากรรมการสอบก็มองไม่ดีแล้ว เมื่อทัศนคติไม่ดีแล้ว ต่อให้ทำมาดีแค่ไหนก็ตกในภาวะลำบากแล้วเพราะผู้รับสารเกิดอคติในการอ่านงาน”
ผมจึงเริ่มปลงและเขียนเท่าที่พอทำได้ แต่คอมพิวเตอร์เจ้ากรรมก็ดันมาพังเอาก่อนวันสอบ โชคยังดีที่เล่มผมมีเซฟอยู่บนคลาวด์ แต่ไฟล์ที่แยกวิเคราะห์หลายสิบอันได้สูญสลายในทันที (จุดนี้ขอเตือนทุกท่านนะครับว่าการแบ็คอัพควรทำทั้งหมดไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเล่ม เพราะข้อมูลบางอย่างถ้าสูญหายเรามาย้อนวิเคราะห์ได้ยากเนื่องจากมันล่วงเลยเวลามานานแล้ว)
แล้วก็มาถึงวันสอบป้องกันครับ สิ่งที่ผมไม่คาดคิดที่สุดคือ ณ วันนั้นมีเพื่อน พี่ น้อง มาให้กำลังใจและร่วมเป็นสักขีพยานมากมาย (ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่) ผมเป็นคนขี้กลัวมากครับและคิดมาก
จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ว่า “อย่าไปคิดว่าเป็นการสอบ อย่าไปคิดว่ากรรมการเป็นศัตรู ให้คิดซะว่าเราเอางานมานำเสนอ แล้วมีคนเก่งๆ หลายคนมาช่วยปรับปรุงงานให้เรา” ผมจึงพอทำใจเข้าสอบและผ่านไปได้ครับ
เรียนจบแล้ว วางแผนอนาคตอย่างไร?
หลังจากนี้ก็คงกลับไปสอนหนังสือครับ แต่ก็คงต้องเริ่มหางานประจำใหม่เลย เพราะหยุดสอนมานาน เกือบ 4 ปี และผมคงไม่ทำอาชีพอื่นแน่ๆ เพราะรักงานสอนครับ
ช่วยนิยามคำว่า “ก็แค่ปริญญาเอก”?
ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะสามารถผ่านบททดสอบอันยากลำบากไปได้ “ก็แค่ลงมือทำ อย่าได้หยุดยั้ง และมีจิตใจที่เข้มแข็ง” เมื่อมองย้อนกลับมา เราก็จะพูดกับตัวเองได้ว่า “ก็แค่ปริญญาเอก”
#ขอบคุณมากมาย #ประสบการณ์และข้อคิดดีดี #ยอดเยี่ยม #คุณคู่ควรกับทุกความสำเร็จ #ข้อคิดจากดรบิ๊ก #ผ่านทุกความท้าทายด้วยการลงมือทำ