“การเรียนตั้งแต่ประถมถึงปริญญาตรี หรือโท เหมือนการวิ่งร้อยเมตร เห็นจุดหมายอยู่ แค่วิ่งไปให้ถึง แต่การเรียนปริญญาเอกเหมือนการวิ่งมาราธอน ตรงจุดสตาร์ท อย่าว่าแต่จุดหมายเลย ทางที่วิ่งจะไปยังไง ยังยากจะเห็น จะใช้ทักษะเดียวกันกับการเรียนในระดับที่ผ่านมาคงไม่ได้”
ขอ
อนุญาตเปิดโพสท์นี้ ด้วยมุมมองที่ลุ่มลึกจาก ผศ.ดร. สาวิตรี คทวณิช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วันนี้ “ก็แค่ปริญญาเอก” มีความยินดีเสนอบทความที่มีคุณค่ามากๆจาก ดร. แต้ว สาวิตรี ที่สละเวลาอันมีค่ามาเขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับการเรียนป.โท-เอกในประเทศอังกฤษให้กับสมาชิกเพจนี้ แอดมินบอกได้เลยว่า #เป็นบทความที่ต้องอ่านค่ะ และเพื่อไม่ให้เสียเวลา ตามไปอ่านและรู้จักดร.แต้วจากบทความนี้เลยค่ะ
…เมื่อหลายๆปีมาแล้ว สาวอักษรคนหนึ่งได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ของทบวงมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอกที่อังกฤษ แต่เนื่องจากมันเป็นช่วง IMF พอดีทุนรัฐบาลทั้งหมดถูกชะลอ ขี้เกียจรอก็เลยไปสอบทุนกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ University of Leeds- Unilever- F.C.O. Chevening Scholarship แล้วก็ได้รับทุน ก็เลยไปเรียนปริญญาโทในสาขา Communication Studies ด้วยทุนนี้ไปพลางๆก่อน ด้วยทุนนี้เป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดและเป็นทุนแค่ระดับปริญญาโท เลยรู้สึกว่าไม่ได้ถูกบังคับในจุดนี้ว่าต้องเรียนต่อปริญญาเอก ซึ่งเป็นข้อดีเพราะมันทำให้มีเวลาสำรวจสภาพแวดล้อมการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา สำรวจตัวเองว่าเราชอบชีวิตแบบนี้รึเปล่า และที่สำคัญเช่นกันคือประเมินตัวเองว่าสามารถรับมือกับชีวิตนักเรียนนอกได้มากแค่ไหน
ช่วงแรกโทรกลับมาบอกแม่เลยว่าไม่รู้ว่ามาทำอะไรที่นี่ ทั้งเหงา ทั้งเหนื่อยกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขียน essay after essay ซึ่งแม้จะจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เรียนมาไม่ได้ช่วยเท่าไรเลย แล้วยิ่งต้องเรียนกับเพื่อนๆในห้องที่เกือบทั้งห้องเป็นนักเรียนทุน Chevening จากทุกทวีปทั่วโลก แถมมีประสบการณ์ทำงานในสื่อมาทุกคน ยิ่งท้อ ยิ่งรู้สึกห่วย ตอนนั้นฝังเพลง Like a Rolling Stone ของ Bob Dylan แล้วซึ้งมาก pedigree อะไรที่เรามีมาจากบ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ช่วยอะไร เรามันแค่กรวดก้อนนึง ผลงานคือสิ่งเดียวที่จะพิสูจน์คุณค่าของเรา เลยคิดว่าเออนะถ้าเรายอมแพ้ ความพ่ายแพ้อันนี้มันจะอยู่กับเราไปตลอดชาติซึ่งคงทนไม่ได้ ไม่อยากทำให้พ่อแม่ หน่วยงาน และคนที่ให้ทุนเขาผิดหวัง ก็เลยสู้ ทักษะการทำวิจัยและทักษะการเขียนเกิดได้จากการอ่าน ก็อ่านเข้าไปงานวิจัยที่เขาเขียนดีดี อ่านหนังสือเยอะๆ อ่านและเขียนไปเรื่อยๆ โชคยังดีที่ตอนเรียนที่อักษรฯมีวิชาการใช้เหตุผลซึ่งมันช่วยในการเรียบเรียงความคิด การสร้าง argument ในการเขียนอย่างมาก พอเรียนไปสักพักก็รู้สึกว่าไม่เหงาแล้ว เริ่มสนุกกับการอ่านการเขียนในเวลากลางวัน กลางคืนปาร์ตี้กับเพื่อน ก็ดำเนินชีวิตไปอย่างนี้จนเข้าสู่ช่วงการเขียน dissertation ในระดับปริญญาโท ซึ่งช่วงนี่ละของจริง เป็นหนังตัวอย่างของชีวิตปริญญาเอก เลือกทำเรื่องการวิเคราะห์วาทกรรมซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำ ปรากฎว่ายิ่งอ่านมากเท่าไรในสาขานี้ ก็ยิ่งชอบ ยิ่งอยากรู้มากขึ้น ยิ่งเขียนยิ่งสนุก ตอนนั้นก็นอนตีสองตื่นเจ็ดโมงทุกวันแต่ไม่เหนื่อย สนุกดี พอเขียนจบ เรียนจบ ผลการสอบออกมาดี dissertation ที่เขียนไปได้คะแนนสูงสุดเลย มันเป็นกำลังใจนะว่าเออปีนึงเราเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ถ้าเราเอาเวลามาพัฒนาตัวเองสักสามปีตอนเรียนปริญญาเอกเราน่าจะพบอะไรที่เราหาหาอยู่มากกว่านี้ ก็เลยได้คำตอบของชีวิตก็ตัดสินใจเรียนต่อเอก
ข้อคิดนึงก่อนตัดสินใจเรียนปริญญาเอก คือ การเรียนปริญญาเอกมันไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ เรียกว่าเป็นภาคสมัครใจละกัน ที่ผ่านมาปริญญาเอกเป็นสิ่งที่ overrated ในสายตาเราคนเรียนจบเอกมาเป็นด็อกเตอร์ไม่ได้เก่งเลอเลิศกว่าใครในทุกเรื่อง เพียงแค่เรามีความรู้ทางวิชาการดีกว่า มีทักษะการวิจัย-การเขียน มีวินัยในการทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของนักวิชาการ ดังนั้นจบเอกมาก็จะเหมาะกับการเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการเพราะเขา groom เรามาแบบนั้น ปริญญาเอกเหมือนเป็นประตูไปสู่ชีวิตแบบนี้ ก่อนตัดสินใจถามตัวเองก่อนว่าคุณชอบมีชีวิตคิดๆขีดๆเขียนๆหรือเปล่า คุณมีมุมที่เป็น philo + sophia = lover of wisdom มากแค่ไหน การเรียนปริญญาเอกต้องอาศัยความชอบ ความรักเป็นพื้นฐานเพราะมันเป็น commitment ที่ยาวนาน อย่างน้อยที่สุดก็ 3 ปี ตอนเริ่มถ้ามีความรักที่จะเรียนที่จะรู้ก็จะเป็นนิมิตหมายอันดี สำหรับตัวเอง แม้ว่าจะต่อเอกที่มหาวิทยาลัยเดิม แต่ก็ต้องปรับตัวอีก เพราะปริญญาโทมีเพื่อน มีเพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมแฟลต มีคนชวนปาร์ตี้ ให้หายเหงา พอมา ป.เอก เพื่อนหายหมด อาทิตย์นึงเจอเพื่อนร่วมเรียนแค่หนึ่งคาบ นอกนั้นไปเข้าห้องสมุดอ่านๆเขียนๆเอาเอง เหงาจนหายเหงา กลายเป็นคนรักสันโดษไป เทอมแรก ความกดดันอยู่ตรงคำถามที่ทุกคนรุมถามทุกทีที่เจอว่า “what’s your research question?” ก็ต้องอ่านๆๆๆๆ เพื่อหา gap in the knowledge ช่วงนี้ได้เรียนรู้อย่างนึงว่าอย่าได้เอาคำพูดคนอื่นมาเป็นอารมณ์มากนัก เราทำงานใน pace ของเรา อย่าลน อย่ากดดัน
พอผ่านช่วงหาคำถามนำวิจัยก็เข้าสู่การตะลุยทบทวนวรรณกรรมซึ่งหมายถึงการอ่านอย่างบ้าคลั่ง ปัญหานึงที่แทบทุกคนคงเจอคืออ่านแค่ไหนถึงพอ เมื่อไรถึงจะเริ่มเขียน อ่านเล่มนี้ก็อ้างถึงเล่มนั้นเขียนโดยคนโน้น ก็ตามไปอ่านเล่มนั้นก็อ้างถึงเล่มอื่นต่อไปอีกไม่จบสิ้น จากประสบการณ์คือ อย่าอ่านอย่างเดียว ทุกวันจะต้องจดว่าไปอ่านอะไรมาแล้วมันเกี่ยวกับหัวข้อของเราอย่างไร เขียนเป็นคำพูดของเราเอง ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่อ่านมันโยงกลับมาหัวข้อวิทยานิพนธ์เรายากแสดงว่ามันอาจจะไม่ได้จำเป็นรึเปล่า ก็ปรับโฟกัสในการอ่านเสียใหม่ คนที่สำคัญมากๆในการทำวิทยานิพนธ์คือ supervisor ควรเลือก supervisor ที่ bring out the best in you คนที่เติมเต็มส่วนที่เราขาดทั้งในด้านความรู้และบุคลิกภาพการทำงาน จำไว้ว่า supervisor สำคัญ แต่คนที่สำคัญกว่าคือตัวคุณเอง การทำปริญญาเอกไม่ต้องอาศัยความเก่งความฉลาดมากเท่ากับความอึดและความสม่ำเสมอ การศึกษาไทยมักฝึกให้เด็กเป็น sprinter คือเป็นนักวิ่งลมกรด ยิ่งเรียนเร็ว รู้เร็วเท่าไรยิ่งเรียกว่าเก่ง แต่นักวิ่งลมกรดที่ชนะการวิ่งระยะสั้นไม่ได้หมายความว่าจะชนะการวิ่งมาราธอน
เปรียบการเรียนกับการวิ่ง การเรียนตั้งแต่ประถมถึงปริญญาตรี หรือโทเหมือนการวิ่งร้อยเมตร เห็นจุดหมายอยู่ แค่วิ่งไปให้ถึง แต่การเรียนปริญญาเอกเหมือนการวิ่งมาราธอน ตรงจุดสตาร์ท อย่าว่าแต่จุดหมายเลย ทางที่วิ่งจะไปยังไงยังยากจะเห็น จะใช้ทักษะเดียวกันกับการเรียนในระดับที่ผ่านมาคงไม่ได้ เราต้องรู้จักตัวเอง คนเรากลั้นหายใจได้ไม่นานฉันใด เราก็ไม่ควรตะลุยงานเป็นเวลานานๆฉันนั้น คือ ตอนแรกอาจจะไหว แต่ต่อไปคุณจะล้า อาจจะลุกลามเป็น depressive disorders อะไรไปได้ ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายย่อยๆในงาน ที่สามารถทำเสร็จได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ แล้วจัดตารางการทำงานให้ดี เช่น ระบุว่าจะเขียนทบทวนวรรณกรรมเรื่องแนวคิดนี้ให้จบในหนึ่งสัปดาห์ (แทนที่จะบอกว่าจะเขียนบททบทวนวรรณกรรมทั้งหมดให้เสร็จในสามเดือน) เพราะภายในหนึ่งสัปดาห์เราทำเสร็จเท่าที่กำหนด จะได้รู้สึกว่า achieve something แล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะให้รางวัลกับตัวเอง ไปเดินเที่ยว ไปช้อบปิ้ง ทำอะไรที่คุณมีความสุขเหมือนได้พักหายใจ เสร็จแล้วค่อยมาทำงานต่อไป การมีแผนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเครียด เพียงแค่ยึดตามแผนไว้ก็ลดความกังวลได้ วินัยและความสม่ำเสมอสำคัญมากๆในช่วงนี้
สุดท้าย เมื่อเขียนจบทั้งเล่ม มันจะมีวูบหนึ่งที่รู้สึกว่างานเราห่วย เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ตรงนั้นก็น่าจะเติม ตรงนี้ก็ขาด อย่าเพิ่งฉีกวิทยานิพนธ์ทิ้งนะคะ มันเป็นแค่วูบแห่งความบ้า ต้องมีความเชื่อมั่นในงานที่เราทำ อย่าลืมว่าเรามี supervisor ช่วยดูมาตลอด ถ้า sup บอกว่าโอเคก็แปลว่าอย่างนั้น ส่วนบางคนที่อาจจะรู้สึกว่าชั้นสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีก จำไว้ว่าเรามีอีกทั้งชีวิตที่เหลือที่จะทำวิจัยอีก งานต่อๆไปย่อมจะดีกว่านี้ จะทำให้เลิศเลอขนาดไหนก็ได้ สุดท้าย ขอพูดจากมุมมองของคนทำหลักสูตรและสอนปริญญาเอก สิ่งที่คาดหวังจะเห็นจากการสร้างด็อกเตอร์ขึ้นมา ไม่ใช่ต้องการสร้างคนที่รู้ทุกเรื่อง เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่คนจะเรียนสรรพวิทยาทุกอย่างภายใน 3-4 ปี แต่ต้องการสร้างคนที่เชี่ยวชาญในหัวข้อเฉพาะที่คุณทำและสาขาใกล้เคียง คนที่เป็น Philosopher ที่รักที่จะเรียนรู้ คนที่รู้ว่าโลกนี้มีสิ่งที่น่าสนใจศึกษามากมายเหลือคณานับ และรู้ว่าเราโชคดีแค่ไหนที่ได้เห็นและรู้จักโลกมหัศจรรย์ของความรู้เหล่านั้น
เพจก็แค่ปริญญาเอก ขอขอบคุณ ดร. แต้ว สำหรับบทความที่ยอดเยี่ยมและเป็นประโยชน์อย่างที่สุด รวมถึงรูปสวยๆ สุดคูล ชิค เก๋ ของดร.เป็นอย่างมากค่ะ 🙂
#บทความดี๊ดี #ยิ่งกว่าใช่ #philosopherมาเอง #จัดเต็ม #ที่นี่ที่เดียว! #ครอบคลุมทุกประเด็น #ทุนเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษา #จบโทแล้วควรต่อเอกดีไหม #จุดเชื่อมต่อระหว่างโทกับเอก #ความกดดันระหว่างเรียน #คำแนะนำในการเรียนปเอกทุกขั้นตอน
#เพจก็แค่ปริญญาเอก #JustaPhD